ตำนานน้ำตา (อรรถวุฒิ บุญยวง)
หนังเรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของคุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ ซึ่งเราไม่ได้อ่านตัวบทประพันธ์ดั้งเดิม เราก็เลยไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้ซื่อตรงต่อตัวบทประพันธ์มากน้อยแค่ไหน หรือดัดแปลงจากตัวบทประพันธ์มากน้อยแค่ไหน
เนื้อหาของหนังเรื่องนี้น่าสนใจดีนะ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ต้องการสื่อถึงอะไรกันแน่ ช่วงต้นของหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของโรงงานปอกหัวหอมและการที่คนงานในโรงงานตัดสินใจตัดต่อมน้ำตาทิ้ง ช่วงที่สองหนังเล่าเรื่องบทสนทนาของพระกับคนที่ออกตามหาฝุ่นผงที่เกิดจากการสลายตัวของต่อมน้ำตาที่ถูกตัดทิ้ง และช่วงสุดท้ายของหนังเราจะได้เห็นภาพผ้าที่ดูคล้ายจีวรพระเป็นเวลายาวนาน
เนื่องจากเรางงๆกับ "เนื้อหา" ของหนัง จุดที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้จึงเป็น "วิธีการนำเสนอเรื่องราวในหนัง" มากกว่า โดยในช่วงแรกนั้นเราจะได้เห็นจอมืดๆ และได้ยินเสียงคนเล่าเรื่องโรงงานปอกหัวหอม (ถ้าเราจำไม่ผิด) ซึ่งเราชอบวิธีการนี้มากๆ เพราะแทนที่หนังเรื่องนี้จะไปสร้างฉากโรงงานปอกหัวหอม หนังเรื่องนี้กลับนำเสนอจอมืดๆ และใช้เสียงบรรยายเล่าเรื่องแทน ซึ่งเราว่าแค่นี้ก็พอแล้วในการเล่าเรื่อง คุณไม่จำเป็นต้องสร้างฉากอลังการแต่อย่างใด
นอกจากการเล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยายแล้ว เรายังชอบการเล่าเรื่องด้วย text ในหนังเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะ text ที่เกี่ยวกับ "ทหารหนุ่มที่ทำงานขายตัวในเวลากลางคืน" เราว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้น่าสนใจมาก และควรมีการหยิบตัวละครตัวนี้มาสร้างเป็นหนังอีกเรื่องนึง
ภาพในหนังเรื่องนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเราจะได้ภาพอาคารที่เราเข้าใจว่าเป็นกุฏิพระ, เห็นพระคุยกับคนๆนึง, เห็นภาพคุณอนุสรณ์อ่านหนังสือ และมีคนที่ดูคล้ายๆคุณควอนจียุ้ย ไม่มีนามสกุล นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และเห็นภาพผ้าที่คล้ายๆจีวรพระ
สรุปว่าหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้ "เล่าเรื่อง" ด้วยภาพเลย เพราะหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยายและ text แทน แต่ภาพในหนังเรื่องนี้กลับทรงพลังและน่าจดจำในตัวของมันเอง ภาพกุฏิเป็นภาพที่น่าพิศวงมากๆว่าใส่เข้ามาในหนังทำไม เพราะมันไม่ใช่ภาพที่สวยหรือมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง แต่เราชอบความพิศวงในการปรากฏตัวของมันในหนังเรื่องนี้ ส่วนภาพของคุณอนุสรณ์นั้นเราชอบมากๆ เพราะภาพนี้มันทำให้หนังมี layer เพิ่มขึ้นมาอีกชั้นนึงในทันที ฉากคุณอนุสรณ์เป็นการตอกย้ำว่าเรากำลังรับรู้ "เรื่องเล่า" อยู่ เราไม่แน่ใจว่าวิธีการแบบนี้เขาเรียกว่า Brechtian หรือเปล่า ส่วนฉากจีวรพระนั้นเป็นฉากที่สวยและมีพลังในการสร้างบรรยากาศเป็นอย่างมาก
ย้อนกลับมาที่เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจเนื้อหาของหนัง แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เรานึกถึง "น้ำตาของพระ" โดยไม่ได้ตั้งใจ พอเราดูหนังเรื่องนี้จบ เราก็นึกขึ้นมาได้ว่า เราแทบไม่เคยเห็นพระร้องไห้มาก่อนเลย ยกเว้นในหนังเรื่อง REMEMBRANCE (2010, Sittiporn Racha, 29min, A+++++++++++++++) เนื้อหาของ THE LEGEND OF TEARS ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือความพอดีในการร้องไห้ คือโดยส่วนตัวแล้วเราเป็นคนที่ชอบร้องไห้นะ และบางทีเราก็คิดว่าเราควรจะทำตัวแบบพระบ้าง คือวางอุเบกขากับเรื่องบางเรื่องน่ะ บางทีเวลาเรารับรู้เรื่องราวอะไรที่เลวร้ายมากๆ เราก็จะรู้สึกหดหู่อย่างรุนแรงเป็นเวลานานๆ และเราก็ต้องพยายามทำใจวางเฉยกับมัน เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้ โดยไม่จ่อมจมอยู่กับเรื่องเศร้าๆมากเกินไป แต่การวางอุเบกขานี้ก็ต้องระวังให้ดีเหมือนกัน เพราะในบางครั้งมันอาจจะกลายเป็นการไม่ยินดียินร้ายต่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ไปได้เหมือนกัน เราว่าจิตอุเบกขากับการไม่ยินดียินร้ายนี่มันใกล้เคียงกันมากๆ และเราต้องระวังจิตเราให้ดีไม่ให้โศกเศร้าเกินไปและไม่ให้ด้านชามากเกินไป
สรุปว่าประเด็นข้างต้นไม่ได้อยู่ในหนังเรื่อง "ตำนานน้ำตา" แต่อย่างใด แต่มันเป็นประเด็นที่เรานึกถึงโดยบังเอิญหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ
ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+ แต่เราก็อาจจะไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ถึงขั้นที่จะติดอันดับประจำปีแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้มีอะไรกระแทกใจเราเป็นการส่วนตัวน่ะ ไม่เหมือนอย่าง I REMEMBER (2011, Authawut Boonyuang, A++++++++++), TIME TO BE... (2009, Authawut Boonyuang, 12 min, A++++++++++) และ SCAR (2010, Authawut Boonyuang, 12 min, A++++++++++) ที่มันมีอะไรมาโดนใจเราเป็นการส่วนตัว
No comments:
Post a Comment